บ้านเล็กจัดยังไงให้ใหญ่ ตอนที่ 1

Last updated: 13 ก.ค. 2562  |  5783 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บ้านเล็กจัดยังไงให้ใหญ่ ตอนที่ 1

บ้านเล็กจัดยังไง..ให้ใหญ่ ตอนที่ 1

ที่อยู่อาศัย: สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนที่อาศัยอยู่ในบ้าน

เมื่อเรารู้ว่า เราจะดูแลรักษาบ้านอย่างไร บ้านก็จะดูแลเราให้มีความสุขแบบนั้น

บ้านคือที่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ทุกๆวัน เป็นที่ที่สะดวกสบายและเงียบสงบเพื่อต้อนรับการกลับบ้านของเรา เราจะสรรค์สร้างบ้านที่สวยงามให้เป็นของเราได้อย่างไร? ต้องทำงานหนักเพื่อจะซื้อบ้านหลังใหญ่ใช่มั้ย? ต้องจ้างดีไซน์เนอร์มืออาชีพมาช่วยออกบ้านหรือเปล่า? ต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ราคาแพงทุกชิ้นหรือเปล่า?

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบ้านอยู่อย่างน้อย 4 เรื่องด้วยกัน

1) สิ่งก่อสร้าง ไม่เท่ากับ บ้าน

ทุกคนต่างก็ฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ทำงานอย่างหนัก, กู้เงินจากธนาคาร, ผ่อนระยะยาว เพื่อบ้านสักหลัง ทั้งหมดนี้เราอยากได้เพียงสิ่งก่อสร้างแค่นั้นหรือ? แสงแดดอุ่นๆส่องกระทบลงที่พื้นโซฟานุ่มๆน่าทิ้งตัวลงนอน กลิ่นหอมที่โชยมาจากอาหารเช้าเพิ่งปรุงเสร็จ เสียงหัวเราะรวนๆของคนในบ้านตอนอยู่ด้วยกัน นี่ต่างหากคือ ความหมายของบ้านในฝันที่อยู่ในใจเรา

เราไม่มีสิ่งก่อสร้างได้ แต่เราจะไม่มีบ้านไม่ได้

2) คนสร้างบ้าน ไม่เท่ากับ ผู้อยู่อาศัย

คนสร้างบ้านสามารถทำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับบ้านวาดโครงสร้างบ้าน จัดเรียงตกแต่งบ้านได้ ออกแบบภายใน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้สวยงาม เลือกเครื่องใช้ให้เหมาะสมกับบ้านได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ นั่นก็คือ เข้าไปอยู่ในบ้านแทนที่พวกเรา 

คนสร้างบ้านสร้าง “สิ่งก่อสร้าง” เป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของการเป็นบ้าน คนที่อาศัยในนั้นต่างหากที่ จะรังสรรค์ “บ้าน” ให้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

3) ใหญ่กว่า ไม่เท่ากับ ดีกว่า

การมีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากจะมีการมีบ้านที่ “ใหญ่ขึ้น”, มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยขึ้น, มีสังคมแวดล้อมที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถพัฒนาคนที่อาศัยในบ้านให้ดีขึ้นได้ นั่นคือ ทัศนคติของเราที่มีต่อบ้าน พูดง่ายๆว่า เราใช้ชีวิตอย่างไรตอนอยู่บ้าน เราอาจจะไม่ต้องกังวลที่จะมีบ้านหลังใหญ่ๆ แต่เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยการอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิม โดยไม่ต้องย้ายไปบ้านหลังใหม่ ถ้าเรามีมุมมองใหม่เกี่ยวกับบ้านของเรา

4) บ้านใหญ่กว่า ไม่เท่ากับ เก็บของได้มากกว่า 

“คน” และ “สิ่งของ” ต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ถ้าเราไม่สามารถจัดการ “สิ่งของ” และ “คน” ให้อยู่ร่วมกันได้ ที่อยู่อาศัยของคนจะกลายเป็นโกดังเก็บของ เพื่อแก้ปัญหานี้ เราจึงต้อง “จัดเก็บบ้าน”

ปัญหาหลักของบ้าน “รก” คือ 1) ของมีมากเกินไป 2) บ้านมีพื้นที่เก็บของไม่พอ 3) คนอยู่อาศัยไม่เข้าใจการจัด เก็บบ้าน

บ้านรก = บ้านอ้วน มีน้ำหนักมากเกินไป

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนร่ำรวยมากขึ้น เหมือนกับอาหารที่เรากินทุก วันนี้จากการ “มีไม่พอ” กลายเป็น “มีมากเกินไป” จาก “ของน้อย” กลายเป็น “ของเยอะ” ในขณะที่ขนาดบ้านของเราเท่าเดิม

ถึงเวลาลดความอ้วนให้กับบ้าน หัวใจสำคัญที่สุด คือ เริ่มต้นด้วยการลดปริมาณของ ในบ้าน “ทิ้งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว” หรือเอาไปบริจาค

ลองนึกดูว่ากว่าเราจะมีบ้านสักหลัง ต้องลงทุนลงแรงมากมาย บ้านถือเป็นสินค้าที่แพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบพื้นที่ต่อตารางเมตร แต่บ้านกลับค่อยๆกลายเป็นโกดังเก็บของราคาถูก เมื่อเรามีของในบ้านมากเกินไป

หลายคนอาจจะรู้สึกผิดที่จะต้องทิ้งของที่ไม่ได้ใช้ออกไป แต่ให้ลองคิดดูว่า เราจะรู้สึกผิดมั้ยกับไขมันส่วนเกินที่เราทิ้งมันไป เพื่อให้เรากลับมามีรูปร่าง ผอมเพรียว สวยงามเช่นเดิม นอกจากนี้ หลังจากลดความอ้วน ไม่ใช่แค่ร่างกายที่สวยงาม แต่เรายังได้ความมั่นใจเพิ่มกลับคืน เช่นเดียวกับบ้านที่จัดเก็บแล้ว นอกจากจะได้พื้นที่เพิ่มขึ้น เรายังได้ความรู้สึกที่โล่งปลอดโปร่งกลับคืนมาด้วย

เทคนิคการจัดเก็บบ้านมีมากมาย แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเครื่องมือหลักๆในการจัดเก็บบ้านเสียก่อน เครื่องมือในการจัดเก็บบ้าน มี 4 ระดับ

1) ตัวบ้าน คือ สิ่งก่อสร้าง เป็นเครื่องมือที่ใช้จัดเก็บสมาชิกทุกคนในครอบครัว เก็บความทรงจำ ความประทับใจของผู้อาศัยในบ้าน

2) ห้อง คือ เครื่องมือที่ใช้จัดเก็บช่วงเวลาของชีวิตในทุกวัน

3) เฟอร์นิเจอร์ คือ เครื่องมือจัดเก็บสิ่งของสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

4) อุปกรณ์ คือ เครื่องมือจัดเก็บแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

มีกฎ 4 ข้อในการจัดเก็บของในบ้าน

1) ใกล้มือที่สุดและมีอยู่ทั่วบ้าน

พื้นที่เก็บของควรอยู่ใกล้กับสิ่งของที่จะเก็บกระจายอยู่ทั่วบ้าน เช่น ถ้าตู้เสื้อผ้าอยู่ในห้องนอน ควรเก็บที่รีดผ้าไว้ใกล้กับ ห้องนอน เพื่อหยิบใช้งานได้ง่ายขึ้น

2) พื้นที่จัดเก็บของควรใช้พื้นที่อย่างน้อย 12% ของพื้นที่บ้านทั้งหมด

และกระจายไว้หลายๆห้องในบ้าน ถ้าเราไม่ได้เผื่อพื้นที่เก็บของในบ้านไว้มากพอ เมื่อเวลาผ่านไป บ้านจะเต็มไปด้วยของ เมื่อเวลาเข้าไปอยู่ (บ้านยิ่งเล็ก เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บของต้องยิ่งเยอะขึ้น)

3) จัดเก็บแบบแนวตั้ง

เปรียบเสมือนตึกที่สูงย่อมมีพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่าตึกที่เตี้ย ถ้าเราเน้นเก็บของให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะทำให้ดูเหมือนเป็นชิ้นเดียวกัน ยิ่งใช้พื้นที่แนวราบน้อยเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้รู้สึกสะอาดมากขึ้นเท่านั้น

4) ใช้กฎซ่อน 80% โชว์ 20%

ซ่อนสิ่งไม่สวยงาม 80% เลือกโชว์สิ่งที่สวยงาม 20% ยิ่งมองเห็นของเยอะมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้สึก “รก” มากเท่านั้น ยิ่งคนมองไม่เห็นเท่าไหร่ ย่ิงทำให้รู้สึก “โล่งสะอาด” มากขึ้นเท่านั้น

เพราะบ้านไม่ใช่โรงแรมหรือโชว์รูมสินค้า เราจำเป็นจะต้องซ่อนสิ่งที่ไม่ได้ใช้และโชว์เฉพาะของที่หยิบใช้บ่อยๆ ตู้เก็บของที่มีประโยชน์ จะใช้หลักการซ่อนและโชว์เป็นหัวใจสำคัญ

ตู้เก็บของในห้องน้ำ - ตรงกลางเป็นกระจกสามารถเปิดปิด และเก็บของไว้ข้างใน ของที่หยิบใช้งานบ่อยจัดวางไว้ด้านข้าง

ตู้เก็บรองเท้าหน้าบ้าน - ด้านบนสำหรับเก็บซ่อนรองเท้าที่ไม่ค่อยได้ใส่ ด้านล่างวางรองเท้าที่ใช้บ่อยๆ

โต๊ะรับแขกกลางห้อง - มีลิ้นชักข้างล่างไว้ซ่อนของหรือเก็บของเล็กๆ ด้านบนไว้โชว์สิ่งของที่ต้องการจะโชว์

พื้นที่น้อยต้องฉลาดจัดบ้าน - การที่เราจะจัดของในบ้านหลังเล็กให้มีระเบียบสวยงามและใช้งานได้ดีนั้น ต้องใชัทัศนคติและความฉลาดในการดูแลรักษา

ติดตามตอนต่อไปนะครับ  :)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้